JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

วันสะเก็ดเงินโลก World Psoriasis Day

สถาบันโรคผิวหนัง และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ชวนมาทำความรู้จักและเข้าใจ “โรคสะเก็ดเงินเป็นมากกว่าโรคทางผิวหนัง”


ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิง ณัฎฐา รัชตะนาวิน (กลาง) อาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย แพทย์หญิงพู่กลิ่น ตรีสุโกศล (ขวา) รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ และ แพทย์หญิงอรยา กว้างสุขสถิตย์ (ซ้าย) รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันและไม่ติดต่อ ที่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย
 
กรุงเทพฯ, วันที่ 28 ตุลาคม 2563 – สืบเนื่องจากวันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีที่ถือให้เป็นวันสะเก็ดเงินโลก (World Psoriasis Day) นั้น ในปีนี้ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ คณะแพทยศาสตร์  โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างได้จัดกิจกรรม “วันสะเก็ดเงินโลก World Psoriasis Day” โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งมีอาการของโรคเด่นบริเวณผิวหนัง แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันและไม่ติดต่อ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย โรคนี้ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ อีกด้วย เช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนสภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิต เป็นต้น
 
นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีความกล้าที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับอาการนอกเหนือจากบริเวณผิวหนังของโรคที่ตนต้องเผชิญให้กับแพทย์ผู้รักษามากขึ้นผ่านแคมเปญวันสะเก็ดเงินโลกในปีนี้ คือ “Be Inform” เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเองในการรักษาให้ตรงจุดและครอบคลุม อันจะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคร่วมและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิง ณัฎฐา รัชตะนาวิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของผิวหนัง ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคสะเก็ดเงินในประเทศไทย กำลังมีการสำรวจในประชากรทั่วไป แต่พบได้เป็นอันดับที่ 4-5 ในคลินิกผิวหนังในโรงเรียนแพทย์และศูนย์การแพทย์ ของกระทรวงสาธารณะสุข และในด้านการแพทย์เองก็อยู่ในระหว่างการศึกษาถึงสาเหตุของโรคที่แท้จริงว่ามาจากสาเหตุใด ผื่นสะเก็ดเงินเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ผิวหนังที่มีการแบ่งตัวเร็วกว่าปกติประมาณ 5 เท่า  ชึ่งเกิดจากการกระตุ้นของสารเคมีในเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ชนิดเซลล์ที (T-Cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นผื่นขนาดใหญ่ตามร่างกาย ลักษณะผื่นนูนแดง มีสะเก็ดสีขาวพบได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ข้อศอก หัวเข่า หรือเล็บ บางครั้งพบที่อวัยวะเพศ และพบประวัติในครอบครัว ประมาณร้อยละ 30 นอกจากนี้ อีกประการที่สำคัญคือ โรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นโรคที่มีอาการทางด้านผิวหนังเท่านั้น  แต่ยังมีความสัมพันธ์กับโรคร่วมอื่น ๆ อาทิเช่น โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงภาวะซึมเศร้าและปัญหาทางด้านจิตใจ เป็นต้น
 
ทั้งนี้การให้ความรู้แก่ ผู้ป่วย ญาติ และประชาชนทั่วไปจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็ง มีสติในการเผชิญหน้ากับสิ่งรบกวนทางจิตใจ จะช่วยลดการเกิดพฤติกรรมการแยกตัวออกจากสังคม  ลดความรู้สึกหดหู่  การขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากสภาพร่างกายภายนอกอันเป็นผลจากโรค และสิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจจากบุคคลใกล้ชิดถือเป็นยาขนานเอกในการช่วยเยียวยารักษาโรคสะเก็ดเงินให้มีอาการดีขึ้น และดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
 
แพทย์หญิงพู่กลิ่น ตรีสุโกศล รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ขึ้นชื่อว่าโรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ทางการแพทย์ยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ตามที่ผู้ป่วยหลายท่านนั้นปรารถนา การรักษาจึงเป็นในแบบควบคุมอาการเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค อีกทั้งสิ่งที่ทางการแพทย์ให้ความสำคัญอีกประการคือ ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยอีกหลายท่านยังคงไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นโรคที่มีอาการทางด้านผิวหนังเท่านั้น  แต่ยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ และปัญหาทางด้านจิตใจที่ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ จนอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติการณ์ของโรคสะเก็ดเงิน เพราะฉะนั้นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในสังคมผ่านโครงการ “วันสะเก็ดเงินโลก World Psoriasis Day” นับว่าเป็นโอกาสอันดีให้โรคสะเก็ดเงินอยู่ในความสนใจและทำความรู้จักโรคได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น  ส่วนแคมเปญ “Be Informed” เป็นแคมเปญประจำปีนี้ เพื่อมุ่งหวังในการต่อยอดการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ผ่านการส่งเสริมให้ผู้ป่วยบอกเล่าถึงอาการต่างๆแม้ว่าจะเป็นอาการนอกเหนือจากผิวหนังให้แพทย์รับรู้ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ดี  การดูแลตนเองอย่างเหมาะสมก็จะสามารถช่วยควบคุมอาการของโรคให้สงบได้  โดยแนะให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ ความอ้วน รวมถึงยาบางชนิดที่สามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้  นอกจากนี้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือการติดเชื้อ หรือโรคหวัด ก็อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดผื่นเห่อขึ้นได้ ในขณะเดียวกัน  ขอแนะนำให้ผู้ป่วยติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรย้ายหรือเปลี่ยนแพทย์ผู้ทำการรักษาไปเรื่อย ๆ เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาให้ตรงจุดและติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและใช้ระยะเวลานาน”
 
ทั้งนี้การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอย่างเหมาะสม จะเป็นการควบคุมอาการของโรคไม่ให้รุนแรง และยังทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น โดยมีเคล็ดลับสี่ประการที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ดังนี้
 
  1. เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน: ผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจโรคสะเก็ดเงินอย่างถูกต้อง เพื่อสามารถดูแลและรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป
  2. ดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด: ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  และหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่ายกายและจิตใจ
  3. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น: การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น
  4. สังเกตและป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน: กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณข้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที  เพื่อให้ทำการวินิจฉัยและรักษาอาการที่อาจเกิดจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ หรือผู้ป่วยบางรายที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไข้ที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ
ส่วนแนวทางการรักษานั้นในปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาเป็นไปเพื่อควบคุมอาการเท่านั้น           โดยวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นยารูปแบบยาทา ยารับประทานและการฉายแสง แต่ล่าสุดได้มีนวัตกรรมในการรักษาที่ตรงจุด (Treat To Target) ในรูปแบบยาฉีด เป็นการรักษาแบบพุ่งเป้าที่ให้ผลการรักษามากกว่าผิวกายให้เรียบเนียนอีกด้วย
 
อนึ่ง การรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในโรคสะเก็ดเงิน ถือเป็นความจำเป็นและประชาชนโดยทั่วไปควรตระหนักในความสำคัญ ในโอกาส “วันสะเก็ดเงินโลก” นี้ จึงขอเชิญชวนผู้ป่วย ผู้ดูแล และผู้ที่สนใจมาร่วมกิจกรรมพร้อมฟังการเสวนาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาร่วมถ่ายทอดและให้ความรู้ เกี่ยวกับการรักษาโรคสะเก็ดเงินที่ถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงแนวทางการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นใจให้ตนเองของผู้ป่วย ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563 นี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้ทั้งสองกิจกรรม ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เวลา 12.30-14.30 น. ณ ห้องประชุม     ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รับชม LIVE สด ผ่านทางเพจ FACEBOOK สถาบันโรคผิวหนัง และรับชม รายการ “Rama Health Talk” ทางช่อง Rama Channel ผ่าน True vision ช่องหมายเลข 42 เวลา 15.30-16.00 น. โดย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล