JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ แบรนด์ไทย WISHARAWISH เปิดตัว 70 ผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ


กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ แบรนด์ไทย WISHARAWISH เปิดตัว 70 ผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ โดยใช้ผ้าไทยหลากหลายชนิด จาก 14 ผู้ประกอบการ ในโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563
ณ ล้ง 1919 เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
 
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดตัวผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ กว่า 70 ชุด โดยใช้ผ้าไทยหลากหลายชนิด จาก 14 ผู้ประกอบการ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ ผ้าไหมมัดหมี่และแต้มหมี่ ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าบาติก ผ้าขาวม้า ทั้งนี้ ได้เล็งเห็นความสำคัญของผ้าไทย ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในงานช่างฝีมือที่สืบทอดกันมาของคนในชุมชน ที่เป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์

โดยโครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล เป็นโครงการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมดำเนินการต่อเนื่อง (2562 – 2563) โดยได้คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์ และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการแฟชั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาร่วมออกแบบพัฒนาลวดลายใส่ความคิดสร้างสรรค์ ผสานเข้ากับนวัตกรรม จนออกมาเป็นผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบ ในวันนี้
นายชาย นครชัย  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานในงานการแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบในรูปแบบแฟชั่นโชว์ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2563 กล่าวถึง ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จของโครงการฯว่า ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยได้รับการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่ชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากนักออกแบบไปพัฒนาผ้าไทย ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนกระบวนการผลิตใดก็ตาม รวมไปถึงการนำนวัตกรรมมามีส่วนในการสร้างสรรค์ผ้าไทยให้มีความแปลกใหม่ ไปตามกระแสของวงการแฟชั่นที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้เครื่องแต่งกายผ้าไทยเป็นที่นิยมในการสวมใส่เพิ่มมากขึ้น

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดตลาดแฟชั่นเครื่องแต่งกายผ้าไทยต้นแบบในต่างประเทศ ชุดผ้าไทยปรากฎสู่สายตาผู้ชมในรันเวย์ระดับนานาชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี อาทิ Tokyo Fashion Week / Rakuten Tokyo Fashion Week และในปี 2563 ผ้าไทยจากฝีมือของชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการเหล่านี้ จะก้าวต่อไปในงาน Indonesia Fashion Week ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย / Mercedes Benz Fashion Week ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และงาน Fashion of Multicultural  ณ เครือรัฐออสเตรเลีย จากที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าผลงานผ้าไทยของชุมชน/กลุ่มที่ทอผ้า/ผู้ประกอบการ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ยังได้กล่าวต่อไปว่า ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนมาร่วมภาคภูมิใจใน “ผ้าไทย” งานหัตถกรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม งานช่างฝีมือของคนไทย และร่วมส่งเสริม สนับสนุนให้อยู่คู่สังคมไทยและสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศชาติอย่างยั่งยืน